■ มอหินขาว จังหวัดชัยภูมิ
“มอหินขาว” หรือสโตนเฮนจ์เมืองไทย กลุ่มเสาหินทรายสีขาวขนาดใหญ่ ตั้งโดดเด่นบนลานหญ้ากว้างบริเวณเนินเขา ภายในอุทยานแห่งชาติภูแลนคา เกิดจากการสะสมของตะกอนทรายแป้งและดินเหนียวจากทางน้ำ เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงของแผ่นเปลือกโลกเมื่อ 65 ล้านปีก่อน ทำให้มีการแตกหัก ผุพัง และการกัดเซาะ จนกลายเป็นเสาหินสูงใหญ่ 5 เสา รูปทรงประหลาดบนเนินเขาอย่างที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน
■ สามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี
แลนด์มาร์กชื่อดังของจังหวัดอุบลราชธานี เจ้าของฉายา “แกรนด์แคนยอนเมืองไทย” ที่จะโผล่มาให้ได้ยลโฉมเพียงแค่ช่วงระยะเวลาฤดูแล้งที่แม่น้ำโขงลดลงเท่านั้น เกิดจากการกัดเซาะของแรงน้ำวน เมื่อนับดูแล้วมีจำนวนมากกว่า 3,000 แอ่ง ซึ่งคำว่า “แอ่ง” ในภาษาท้องถิ่นจะเรียกว่า “โบก” จึงเป็นที่มาของคำว่า “สามพันโบก” นั่นเอง
■ แพะเมืองผี จังหวัดแพร่
แหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาที่สำคัญของจังหวัดแพร่ ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่เกิดจากการทับถมกันของดินตะกอนแม่น้ำนานนับล้านปี โดยลักษณะการเกิดของเสาหิน เกิดจากกรวด หิน ดิน ทราย เกาะจับตัวกัน ยังไม่แน่นแข็งเต็มที่ ประกอบด้วยชั้นหินทรายละเอียดและชั้นหินทรายสลับกันเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นมีความต้านทานต่อการผุพังไม่เท่ากัน เมื่อถูกน้ำฝนชะซึมชั้นหินที่มีความต้านทานต่อการผุพังน้อยกว่าก็จะถูกชะล้าง กัดกร่อน เหลือชั้นที่มีความต้านทานต่อการผุพังมากกว่า ส่วนที่เหลือจึงเกิดเป็นแท่ง เป็นหย่อม และมีรูปร่างแตกต่างกันออกไปดังเช่นปัจจุบัน
■ ละลุ จังหวัดสระแก้ว
“ละลุ” ในภาษาเขมร แปลว่า “ทะลุ” ที่นี่เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากน้ำฝนกัดเซาะ ยุบตัว หรือพังทลายของดิน เนื่องจากสภาพดินแข็งจะคงอยู่ไม่ยุบตัว เมื่อถูกลมกัดกร่อนจึงมีลักษณะเป็นรูปต่างๆ มองคล้ายกำแพงเมือง หน้าผา บ้างมีลักษณะเป็นแท่งๆ
■ คลองหินดำ จังหวัดชุมพร
แกรนด์แคนยอนแห่งชุมพร มีลักษณะเป็นแนวกำแพงหินทั้งสองข้างที่เกิดจากการกัดเซาะของลำธารมายาวนาน จนเกิดเป็นลำธารที่มีความกว้างประมาณ 5-10 เมตร ไหลผ่านรอยแยกของหิน ในลักษณะลัดเลาะคดเคี้ยวไป-มา ระยะทางยาวมากกว่า 1 กิโลเมตร และมีแก่งหินสูงมากกว่า 3-5 เมตร โดยรอบมีต้นไม้หายากน้อยใหญ่ตั้งอยู่มากมาย บรรยากาศร่มรื่น ซึ่งในช่วงฤดูน้ำลดสามารถลงเล่นน้ำได้
■ กองแลน จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ฉายา “ปายแคนยอน” เพราะธรรมชาติได้สร้างความมหัศจรรย์ให้เกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้ มีลักษณะเป็นภูเขาหินรูปร่างต่าง ๆ ที่เกิดจากการยุบตัวของภูมิประเทศ บางส่วนยุบมากก็กลายเป็นเหวลึก และบางส่วนก็กลายเป็นแนวสันเขาที่มีความกว้างพอให้คนเดินได้ ที่นี่เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบความสนุกสนาน ตื่นเต้นจากการเดินเลียบเลาะวนรอบเขา
■ ผาช่อ จังหวัดเชียงใหม่
มีลักษณะเป็นหน้าผาหินตกตะกอน สูงประมาณ 30 เมตร กว้างราว ๆ 100 เมตร ที่ตัวหน้าผามีลวดลายลักษณะที่สวยงามแปลกตา มีริ้วลายของหินคล้ายกับผ้าม่าน สันนิษฐานว่าบริเวณนี้เคยเป็นแม่น้ำปิงมาก่อน ต่อมาธรณีแปรสัณฐาน และได้ดันชั้นตะกอนบริเวณขอบแอ่งของแม่น้ำ ซึ่งเป็นตะกอนในยุคเทอร์เชียรี มีอายุประมาณ 5 ล้านปี ขึ้นมา เมื่อโดนทั้งลม ฝน ฯลฯ กัดเซาะจึงกลายเป็นลวดลายที่สวยงามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งยังคงทิ้งร่องรอยการกัดเซาะจนกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่น่าตื่นตาตื่นใจ
■ ลานหินปุ่ม ■ ลานหินแตก (ภูหินร่องกล้า) จังหวัดพิษณุโลก
ลานหินปุ่ม : อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่ริมหน้าผาลักษณะเป็นลานหินผุดขึ้นเป็นปุ่มไล่เลี่ยกัน สูงประมาณ 1 ฟุต เกิดจากการสึกกร่อนตามธรรมชาติของหินทางเคมีและฟิสิกส์ ประกอบกับการขัดเกลาของกระแสลมและสายฝน
ลานหินแตก : อยู่ห่างจากฐานพัชรินทร์ ประมาณ 300 เมตร มีลักษณะเป็นหินที่มีรอยแตกเป็นแนวเป็นร่องเหมือนแผ่นดินแยก สันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากการโก่งตัวหรือเคลื่อนตัวของผิวโลก
■ เกาะหินงาม จังหวัดสตูล
เกาะเล็ก ๆ กลางทะเลอันดามัน ตั้งทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะอาดัง ไกลออกไปประมาณ 2.5 กิโลเมตร ความโดดเด่น คือ ชายหาดที่ทรายถูกแทนที่ด้วยก้อนหินสีดำเงางามสุดลูกหูลูกตา ก้อนหินกลมเกลี้ยงเนียนเรียบ ลวดลายสวยงาม ขนาดเล็ก-ใหญ่แตกต่างกันไป
■ หินสามวาฬ (ภูสิงห์) จังหวัดบึงกาฬ
Unseen จังหวัดบึงกาฬที่หลายคนอยากไปเยือนสักครั้ง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงดิบกะลา ป่าภูสิงห์ และป่าดงสีชมพู มีลักษณะเป็นหินขนาดใหญ่ติดหน้าผาสูง แยกตัวเป็น 3 ก้อน มีอายุประมาณ 75 ล้านปี หนึ่งเดียวของโลก เมื่อมองดูจากระยะไกล หิน 3 ก้อนนี้จะดูคล้ายกับฝูงครอบครัววาฬ
ข้อมูลจาก
https://travel.kapook.com/view221049.html
https://www.tripniceday.com
https://www.museumthailand.com
https://www.isangate.com
https://cbtthailand.dasta.or.th
https://www.siameagle.com
https://www.sscarrent.com